รีไซเคิลก็ปังได้ ! พาไปชมงานศิลปะสุดยิ่งใหญ่จากรอบโลก ที่ สร้างสรรค์มาจากวัสดุรีไซเคิล

รีไซเคิลก็ปังได้ ! พาไปชมงานศิลปะสุดยิ่งใหญ่จากรอบโลก ที่ สร้างสรรค์มาจากวัสดุรีไซเคิล

รีไซเคิลก็ปังได้ ! พาไปชมงานศิลปะสุดยิ่งใหญ่จากรอบโลก
ที่สร้างสรรค์มาจากวัสดุรีไซเคิล

รู้มั้ย ว่าวัสดุรีไซเคิลมันไม่ได้มีแค่สิ่งของรอบตัวนะ
ใครๆก็รู้ว่าเทรนด์รักษ์โลกนั้นมาแรงแค่ไหน
แต่เราก็ไม่อยากให้เทรนด์รักษ์โลกเป็นเพียงแค่เทรนด์เก๋ ๆ ที่มาแล้วก็จบไป ใช้แล้วก็ทิ้ง

Earthology รู้ว่า การรักษ์โลกนั้นอยู่ในทุก ๆรายละเอียดของชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ การเลือกรับประทานอาหาร ไปจนถึงงานศิลปะสุดยิ่งใหญ่อลังการที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คน
วันนี้เราเลยจะพาไปดูอาร์ทติสหัวใจรักษ์โลก ที่สร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุรีไซเคิลที่หาได้จากรอบตัว
จะมีอะไรกันบ้าง ตามไปชมกันเลยค่ะ

 

ไม่ใช่ของเล่นทุกชิ้นบนโลกนี้จะมีเจ้าของ

ใครจะไปคิดล่ะว่าพลาสติกในมือเรามันเชื่อมโยงกับไดโนเสาร์
ในยุคดึกดำบรรพ์ได้
!
ศิลปินชาวญี่ปุ่น Hiroshi Fuji ซึ่งมีฉายาว่าเป็น “serial recycling artist” หรือว่าเป็นศิลปินนักสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุรีไซเคิลมือฉมัง ได้สร้างงานศิลปะชิ้นนี้โดยตั้งชื่อว่า ‘Jurassic Plastic’ โดยเขาได้รวบรวมของเล่นจากแหล่งต่าง ๆในเอเชียที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่เป็นทีต้องการของตลาด มาสร้างสรรค์เป็นไดโนเสาร์เหล่านี้

โดยเหตุผลที่ต้องทำเป็นไดโนเสาร์ เพราะว่าพลาสติกมันทำมาจากน้ำมันดิบยังไงล่ะ , และน้ำมันดิบก็เกิดขึ้นมาจากซากพืชซากสัตว์ และนี่เองคือที่มาของไดโนเสาร์เหล่านี้ เพื่อให้เราลองมองย้อนกลับไปถึงที่มาของพลาสติกกันสักนิด
ว่า เฮ้ย
! พลาสติกในมือเรามันอาจจะมีที่มาจากไดโนเสาร์พวกนี้ก็ได้นะ เพราะฉะนั้นใช้พลาสติกให้คุ้มค่ากันเถอะทุกคน

ปล. คุณ Hiroshi Fuji เค้าเคยมาจัดนิทรรศการเป็นสตูดิโอชั่วคราวที่ประเทศไทยด้วยนะ
และยังสร้างสรรค์โปรเจ็คใหม่ๆออกมาเรื่อยๆเป็นโปรเจ็คระยะยาวอีกด้วย

 

Cod Steaks

บริษัทดีไซน์ชื่อเก๋จากอังกฤษ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขนาดใหญ่สุดปัง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่ผู้ชม โดยประติมากรรมวาฬขนาดใหญ่สองตัวนี้ มีชื่อว่า ‘The Bristol Whales’
 โดยสาเหตุที่วาฬทั้งสองตัวต้องตัวใหญ่ขนาดนี้ เพราะมันเท่ากับตัวขนาดวาฬของจริงยังไงล่ะ  โดยทางสตูดิโอได้ใช้ขวดน้ำเหลือทิ้งที่เก็บมาจากงานวิ่งมาราธอนท้องถิ่นกว่า 70
,000 ขวด แถมหลังจากการจัดแสดงเสร็จสิ้น ขวดน้ำทุกขวดถูกส่งต่อไปเข้าสู่กรรมวิธีการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามขั้นตอน ไม่ทิ้งเปล่า นี่แหละความงามแบบไม่ฉาบฉวยอย่างแท้จริง

 

กลับมาที่ผลงานจากศิลปินชาวญี่ปุ่นอีกหนึ่งท่าน

Chiharu Shiota ศิลปินชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามอาร์ทติสที่ชื่นชอบการสร้างสรรค์ผลงานขนาดใหญ่ที่มีความหมายกินใจสุดลึกซึ้ง โดยเธอมักสร้างสรรค์งานศิลปะจากสิ่งของต่างๆที่เธอพบเจออย่างหลากหลาย

โดยผลงานรองเท้านี่เอง เป็นผลงานที่คุณ Chiharu Shiota ได้ขอรับบริจาครองเท้า 1 ข้าง จากผู้คนต่าง ๆ ทั่วทวีป
กว่า 400 ข้าง
โดยตั้งชื่อว่า
‘Over the Continents’ ซึ่งรองเท้าแต่ละข้างที่ถูกส่งมา จะมีข้อความเป็น Note เล็ก ๆ จากเจ้าของเดิม กล่าวถึงเรื่องราวการเดินทางของรองเท้าข้างนี้ กว่าจะมาถึงสายตาของผู้ชม รองเท้าเหล่านี้เคยอยู่กับใคร เคยเดินทางไปไหนมาบ้าง และเชือกสีแดงความยาวกว่า 4 ไมล์ที่เชื่อมโยงรองเท้าเหล่านี้ไปสู่จุดเดียวกัน โดยคุณ Chiharu Shiota ได้อธิบายถึงความหมายอันลึกซึ้งว่า คนทุกคนบนโลกนี้ การเดินทางทุกการเดินทางบนโลกนี้ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ถึงแม้ว่าผลงานชิ้นนี้จะไม่ได้เป็นเชิงของการใช้วัสดุรีไซเคิลเสียทีเดียว แต่ความหมายดีๆของผลงานชิ้นนี้บ่งบอกให้เราเข้าใจถึงคุณค่าของสิ่งของรอบตัวที่มีอยู่กับสิ่งของทุกชิ้น เพียงแค่เราลองเปิดตามองดู และให้คุณค่ากับสิ่งของเหล่านั้นมากขึ้น

 

เศษเหล็กมันไม่ได้ทำได้แค่ชั่งกิโลขายนะทุกคน มันเป็นมากกว่านั้นได้ !

พาไปดู Installation Art จากสถาปนิกชาวชิลี Alejandro Aravena ซึ่งมองเห็นคุณค่าของเศษเหล็กชิ้นเล็กใหญ่เหล่านี้ โดยเขาได้รวบรวมเศษโลหะจากที่ต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ ซึ่งเศษเหล็ก,โลหะเหล่านั้น รวมๆแล้วยาวกว่า 7 ไมล์เลยนะ ! ยังไม่พอ ต้องขอบอกก่อนว่าผลงานนี้ถูกจัดแสดงอยู่ที่งาน Venice Architecture Biennale ซึ่งในปีก่อนหน้า ในงาน Venice Art Biennaleมีแผ่นยิปซัมที่เหลือจากการสร้างนิทรรศการกว่า 1,000 ตารางเมตร ผสมผสานกับวัสดุเหลือทิ้งอื่น ๆ อีก
กว่า 100 ตัน
! โดยงานศิลปะชิ้นนี้ครอบคลุมยาวกว่า 300 เมตร และยังถูกดัดแปลงเพื่อเป็นดิสเพลย์จัดแสดงผลงานอื่น ๆ อีกด้วย  โดยต้องขอเน้นย้ำตรงนี้ว่า คุณ Alejandro Aravena เป็นสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอที่ชื่อว่า  Elemental ซึ่งเป็นสตูดิโอที่เน้นย้ำในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมโดยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เป็นอย่างมาก
ต้องขอชื่นชมจริงๆค่ะ

หลอดพลาสติกมันเป็นสิ่งที่เราใช้กันทุกวันจริง ๆ นะ

พาไปดูผลงานของศิลปิน Von Wong และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร Zero Waste Saigon เพื่อยกระดับสิ่งเล็ก ๆ อย่างหลอดพลาสติกเหลือทิ้งที่ทุกคนมองข้าม กว่า  168,000 ชิ้น มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะชิ้นใหญ่อลังการ โดยใช้ชื่อว่า ‘Parting of the Sea’ โดยคุณ Von Wong ศิลปินได้กล่าวไว้ว่า ต้องการสนับสนุนและสร้างจิตสำนึกใหม่ ๆ ให้แก่การใช้หลอดพลาสติกของผู้คน จากสิ่งเล็กๆที่หลายคนมองข้าม จึงกลายเป็นผลงานศิลปะขนาดใหญ่ที่ไม่ว่าใครมาเห็นก็ต้องอดที่จะเพิกเฉยไม่ได้ และเธอยังได้ย้ำอีกว่า หลอดทุกชิ้นในผลงานชิ้นนี้เป็นหลอดที่ถูกทิ้งอย่างไม่มีใครต้องการ และกว่าจะรวบรวมให้เป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ขนาดนี้ได้ เธอใช้เวลากว่า 6 เดือน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสูง 10 ฟุตนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง เห็นไหมว่าสิ่งของเล็กๆหลายชิ้นพอนำมารวมกันก็สร้างเป็นพลังการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมาก ๆ ได้อีกชิ้นหนึ่ง

        แต่ทุกคนรู้หรือเปล่าว่าหลอดพลาสติก เป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ยากมากๆชิ้นหนึ่ง หลอดพลาสติกทุกชิ้นบนโลกนี้ รีไซเคิลได้ แต่ส่วนมาก “ไม่ถูกนำไปรีไซเคิล ด้วยรูปร่างของหลอดที่เมื่อนำไปเข้าสู่เครื่องรีไซเคิลในปัจจุบัน มักจะมีปัญหาในการขัดขวางส่วนต่าง ๆ ของเครื่องย่อยพลาสติก ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในการรีไซเคิล ทางออกที่เราสามารถแก้ไขได้เป็นอย่างแรกคือ เลิกใช้ค่ะ โดยเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษหรือยกดื่มจากแก้วแทน ค่อยๆปรับเปลี่ยนไปทีละนิด สร้างนิสัยใหม่ให้กับตัวเองจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ก็สวยแล้ว


และอย่างที่เรา Earthology ย้ำไปตั้งแต่ต้น การรักษ์โลกมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวจริง ๆ เพราะมันคือทุกอย่างในชีวิตประจำวันเรา ที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ ทีละนิด ทีละนิด ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่อาร์ทติสที่สร้างสรรค์ผลงานยิ่งใหญ่เหล่านั้นได้ แต่รู้มั้ยว่าเพียงแค่เลือกใช้ของที่โอเค แยกขยะสักนิดก่อนทิ้ง ปฏิเสธที่จะไม่รับถุงจากร้านสะดวกซื้อ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างกระเป๋าที่ทำมาจากเส้นใยขวดพลาสติกรีไซเคิล
แค่นี้ก็ดีมาก ๆ แล้ว อย่าลืมชวนเพื่อนและคนใกล้ตัว ลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อโลกกันด้วยล่ะ
ไม่ใช่ต้องทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อตัวเราเองและโลกของเราในอนาคตนี่แหละ

ไป ! เริ่มกันเลย !!

Earthology สนับสนุนให้ทุกคน “Say Yes to the right thing”

 

ข้อมูลภาพจาก 

https://theartling.com/en/artzine/recycled-art/